จดทะเบียนสมรสในประเทศไทย
ชาวเยอรมันจะทำการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ก็ต่อเมื่อมี “หนังสือรับรอง” (Konsularbescheinigung) จากทางสถานทูตเยอรมัน ณ กรุงเทพ เรียบร้อยแล้ว โดยจะต้องนำ “ใบรับรองคุณสมบัติในการจดทะเบียนสมรส” (Ehefähigkeitszeugnis) มาแสดงต่อสถานทูตเยอรมัน
ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- แปลเอกสารของฝ่ายชาวไทย
- ยื่นตรวจสอบเอกสารไม่ปลอมแปลงที่สถานทูตเยอรมัน ณ กรุงเทพ (ใช้ระยะเวลา 6-8 สัปดาห์)
- ส่งเอกสารไปให้คู่หมั้นฝ่ายชาวเยอรมันที่ประเทศเยอรมนี
- คู่หมั้นฝ่ายชาวเยอรมันจะต้องนำเอกสารดังกล่าวและเอกสารของตนเองไปยื่นที่สำนักทะเบียนที่ประเทศเยอรมนี ณ เมืองที่ตนพำนัก/สังกัดอยู่ เพื่อขอ “ใบรับรองคุณสมบัติในการจดทะเบียนสมรส” (Ehefähigkeitszeugnis)
- คู่หมั้นฝ่ายชาวเยอรมันจะต้องนำ “ใบรับรองคุณสมบัติในการจดทะเบียนสมรส” มายื่นที่สถานทูตเยอรมัน ณ กรุงเทพ เพื่อให้สถานทูตฯออก “หนังสือรับรอง” (Konsularbescheinigung) (สถานทูตฯ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2-3 วันทำการ)
- หลังจากได้รับ “หนังสือรับรอง” (Konsularbescheinigung) จากสถานทูตเยอรมันเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำ “หนังสือรับรอง“(Konsularbescheinigung) ไปรับรองนิติกรณ์เอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศก่อน จึงสามารถนำไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนเขตบางรัก หรือที่สำนักทะเบียนอื่นๆ ได้!
- หลังจากจดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้ว ต้องนำใบสำคัญการสมรส คร.3 และทะเบียนสมรส คร.2 มาแปลเป็นภาษาเยอรมัน และรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงที่สถานทูตเยอรมัน ณ กรุงเทพ (เพื่อใช้ประกอบในการขอวีซ่าติดตามสามี และใช้ในการแจ้งการสมรสในประเทศเยอรมนี)
- ฝ่ายชาวไทยขอวีซ่าติดตามสามี (ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาวีซ่า 3-10 สัปดาห์)
สำคัญ: ณ วันยื่นขอวีซ่า จะมีต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับความรู้ภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐาน A1

เอกสารของฝ่ายชาวไทยที่จะต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสมีดังนี้
- หนังสือเดินทาง
- สูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิด
- สำเนาทะเบียนบ้าน หรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ทร. 14/1
- คำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนครอบครัวจากสำนักทะเบียนกลาง ณ กรุงเทพฯ ที่เดียวเท่านั้น!
- หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (หนังสือรับรองโสด)
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ และ/หรือใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุลของตนเอง (ถ้าเคยมีการเปลี่ยน)
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ และ/หรือใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุลของพ่อ-แม่ (ถ้าเคยมีการเปลี่ยน)
กรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมดังนี้
- ทะเบียนสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) กับคู่สมรสเดิม
- ทะเบียนการหย่า พร้อมบันทึก (คร. 6) กับคู่สมรสเดิม
- ใบสำคัญการหย่า (คร. 7) กับคู่สมรสเดิม
- คำพิพากษาของศาลเรื่องหย่า และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (ในกรณีที่หย่าตามคำพิพากษาศาล!)
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ และ/หรือใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุลของคู่สมรสเดิม (ถ้าเคยมีการเปลี่ยน)
กรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน แต่คู่สมรสเสียชีวิต (สถานภาพหม้าย) จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมดังนี้
- ใบสำคัญการสมรส (คร.3)
- ทะเบียนสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2)
- ใบมรณบัตรของคู่สมรส
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ และ/หรือใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุลของคู่สมรส (ถ้าเคยมีการเปลี่ยน)